แม้ ว่าผลการตัดสินคดีแปรรูป PTT จะออกมาแล้ว แต่ภาวะตลาดบ้านเราก็ยังไม่มีทิศทางที่แน่นอน เนื่องจากรอดูความชัดเจนเรื่องแนวทางการแก้ไขเรื่องท่อก๊าซกันอยู่ ตลาดจึงอาจจะดูซึมๆ ไปบ้างนะครับ วันนี้เราจึงมีกลยุทธ์ที่สามารถใช้ทำกำไรในช่วงตลาด sideway มาฝากกันครับ
ขอ ย้อนไปถึงกลยุทธ์ Long Straddle ที่แนะนำไปในคราวที่แล้ว โดยการ Long Straddle นั้นจะใช้ทำกำไรในกรณีที่คาดว่าตลาดจะแกว่งแรงอย่างมีทิศทาง ไม่ขึ้นแรงก็ลงแรง ในทางกลับกัน หากคิดว่าตลาดจะไร้ทิศทาง เราก็สามารถนำกลยุทธ์ Straddle มาปรับใช้ได้ โดยการทำสถานะตรงกันข้าม หรือที่เรียกว่ากลยุทธ์ Short Straddle นั่นเองครับ
การ Long Straddle เป็นการ Long Call ไปพร้อมกับการ Long Put ดังนั้น การ Short Straddle ก็คือการทำตรงกันข้าม กล่าวคือ Short Call และ Short Put ที่มีอายุและราคาใช้สิทธิเท่ากันไปพร้อมๆ กันนั่นเองครับ เพราะฉะนั้น มองกันง่ายๆ ผลตอบแทนของการ Short Straddle ก็จะตรงกันข้ามกับการ Long Straddle โดยสิ้นเชิงครับ
ขอ ยกตัวอย่างจากคราวที่แล้ว จะได้ง่ายต่อการเปรียบเทียบ สมมุติว่า นาย ก คาดว่าตลาดจะมีทิศทางที่ไม่ชัดเจนอีกสักระยะ จึงขายคอลออปชัน S50Z07C630 จำนวน 1 สัญญา ที่ราคา 20 จุด ขณะเดียวกันก็ขายพุทออปชัน S50Z07P630 อีก 1 สัญญา ที่ราคา 15 จุด รวมแล้ว นาย ก จะได้รับค่าพรีเมียมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,000 บาท และต้องวางหลักประกันจำนวนหนึ่ง โดยนาย ก จะขาดทุนจากการขายคอลออปชัน เมื่อดัชนี SET50 ปิดสูงกว่า 650 จุด และจะขาดทุนจากการขายพุทออปชัน ก็ต่อเมื่อ SET50 ปิดต่ำกว่า 615จุด
ณ วันหมดอายุ หากดัชนี SET50 แกว่งตัวแคบๆ ขึ้นลงสลับกันไปแล้วมาปิดที่ 630 จุด นาย ก จะได้รับพรีเมียมจากทั้งคอลออปชันและพุทออปชันไปฟรีๆ รวมแล้วได้กำไรสูงสุดเท่ากับ 7,000 บาท แต่หากดัชนี SET50 แกว่งขึ้นเล็กน้อย โดยปิดที่ 650 จุด นาย ก จะไม่ได้ไม่เสียจากการขายคอลออปชัน และได้ค่าพรีเมียมจากการขายพุทออปชัน เนื่องจากผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิ รวมแล้วได้กำไรทั้งสิ้น 15x200 = 3,000 บาท
ใน ทางกลับกัน หากดัชนี SET50 ปรับตัวลงเล็กน้อย มาปิดที่ 615 จุด นาย ก จะได้รับค่าพรีเมียมจากการขายคอลออปชันไป 4,000 บาท โดยไม่มีผลได้เสียจากการขายพุทออปชันแต่อย่างใด รวมแล้วในกรณีนี้จะได้กำไรทั้งสิ้น 4,000 บาท ทั้งนี้ นาย ก จะได้กำไรหากดัชนี SET50 ปิดสูงกว่า 595 จุด แต่ไม่เกิน 665 จุด หากแกว่งขึ้นหรือลงเกินกว่านี้นาย ก ก็จะมีผลขาดทุนได้ไม่สิ้นสุดครับ
ตัวอย่าง เช่น หากดัชนี SET50 แกว่งตัวแรงกว่าที่คาดการณ์ โดยขึ้นไปปิดที่ 700 จุด นาย ก จะขาดทุนจากการขายคอลออปชันทั้งสิ้น (700-630+20)x200 = 10,000 บาท แต่ยังได้พรีเมียมจากการขายพุทออปชันมาชดเชย สุทธิแล้วจะขาดทุนเท่ากับ 7,000 บาท และในกรณีที่ตลาดแกว่งตัวลงแรง โดยลงมาปิดที่ 560 จุด นาย ก จะได้พรีเมียมจากการขายคอลออปชันไป 4,000 บาท แต่ต้องประสบผลขาดทุนจากการขายพุทออปชันจำนวน (630-560+15)x200 = 11,000 บาท สุทธิแล้วขาดทุนทั้งสิ้น 7,000 บาท
จะ เห็นได้ว่าการ Short Straddle นี้จะมีข้อได้เปรียบตรงที่เราจะได้รับเงินค่าพรีเมียมเข้ามาก่อน และหากตลาดปิดที่ระดับราคาใช้สิทธิเราจะได้พรีเมียมทั้งจากคอลและพุทออปชัน ไปเต็มๆ แต่ในกรณีที่ตลาดแกว่งขึ้นหรือลงเล็กน้อย เราก็ยังคงได้พรีเมียมจากด้านที่ถูกทาง แม้จะต้องเสียเงินพรีเมียมบางส่วนไปกับฝั่งที่ผิดทาง ทั้งนี้ หากตลาดไม่แกว่งออกนอกกรอบที่วางไว้ สุทธิแล้วจะยังคงได้กำไรอยู่ครับ
อย่าง ไรก็ตาม หากไม่ต้องการถือจนหมดอายุ ก็สามารถปิดสถานะใดสถานะหนึ่งหรือทั้งสองสถานะได้เช่นเดียวกับการ Long Straddle โดยหากตลาดปรับตัวขึ้น ก็จะได้กำไรจากการขายพุทออปชัน ในทางกลับกันหากตลาดปรับตัวลง ก็จะได้กำไรจากการขายคอลออปชันครับ
จาก กลยุทธ์การ Short Straddle เราก็สามารถทำกำไรได้ แม้ตลาดจะมีทิศทางที่ไม่แน่นอน หวังว่าคงจะนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้นะครับ คราวหน้าเราจะมีศึกษาการทำกำไรจากออปชันโดยไม่เน้นทิศทางของตลาด หรือที่เรียกว่า Volatility Trading กันขอบอกว่าเป็นที่นิยมกันมากสำหรับผู้ที่ชอบการซื้อขายออปชั่น อย่าพลาดนะครับ