ตอนที่ 1: รู้จักออปชัน" สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้เราพบกันครั้งแรก เพื่อพูดคุยกันเรื่องออปชัน (Options) สินค้าทางการเงินตัวใหม่ของตลาดอนุพันธ์ฯ (TFEX) โดยเนื้อหาจะครอบคลุมตั้งแต่ระดับพื้นฐานความเข้าใจ หลักการคำนวณราคา ตลอดจนเทคนิคการซื้อขาย เพื่อให้ทุกท่านมีความเข้าใจและพร้อมสำหรับ SET50 Index Options ที่จะเปิดให้ซื้อขายปลายเดือนตุลาคม ศกนี้ครับ
สำหรับ ท่านที่ตกรถไฟเที่ยวที่แล้ว คือยังขาดความความเข้าใจเรื่องฟิวเจอร์ส (SET50 Index Fuutres) ไม่ต้องกังวลครับ ทุกท่านสามารถเริ่มต้นที่ออปชันได้เลย แล้วค่อยไปศึกษาเรื่องฟิวเจอร์สเพิ่มเติม ซึ่งผมขอแนะนำให้สอบถามกับเจ้าหน้าที่การตลาดของท่านครับ
ตรา สารอนุพันธ์ เป็นสินทรัพย์ทางการเงินซึ่งสามารถซื้อขายได้เหมือนหุ้น ต่างกันตรงที่ ราคาของตราสารอนุพันธ์ จะขึ้นอยู่กับสินทรัพย์อื่นที่มันไปผูกติดด้วย ผู้อ่านท่านใดที่ซื้อขายหุ้นเป็นประจำ คงรู้จัก "วอร์แรนท์" (Warrant) เนื่องจากราคาของวอร์แรนท์จะขึ้นอยู่กับหุ้นตัวแม่ ถ้าหุ้นแม่ขึ้น ราคาของวอร์แรนท์ลูกก็จะขึ้นตามด้วย ฉะนั้นวอร์แรนท์จัดเป็น ตราสารอนุพันธ์ครับ ตราสารอนุพันธ์ชนิดอื่นๆ จะมีความแตกต่างกันไปในรายละเอียดครับ
ลักษณะ เฉพาะของตราสารอนุพันธ์อีกอย่างหนึ่งคือ มีวันหมดอายุ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะหมดค่านะครับ ในวันหมดอายุ เราจะมาดูกันว่าใครได้ใครเสียในการซื้อขายอนุพันธ์ตัวนั้น แล้วก็ทำการจ่ายเงินตามผลและกฎที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้านั้น แน่นอนครับเมื่ออนุพันธ์ตัวหนึ่งหมดอายุไป ก็มีอนุพันธ์ตัวใหม่เข้ามาให้ซื้อขายกันในตลาด "ออปชัน" จัดเป็นตราสารประเภทหนึ่งครับ นอกเหนือจาก ฟิวเจอร์ส ที่เรารู้จักแล้ว ยังมี ฟอร์เวิร์ด (Forward) และ สัญญาสวอป (Swap) ที่เป็นตราสารอนุพันธ์ด้วย ออปชันเป็นที่นิยมมากในต่างประเทศครับ และมีอัตราการเติบโตในตลาดสูงมาก อย่างเช่นที่เกาหลีใต้ ออปชันของดัชนีหลักมีการซื้อขายกว่า 10 ล้านสัญญาต่อวัน หลังจากที่เปิดให้ซื้อขายเพียง 7 ปี เหตุผลคงเป็นเพราะประโยชน์ของออปชันนั้นมีมากมาย ผมขอยกมา 3 ข้อหลักๆ ครับ
1. ออปชันช่วยจำกัดความเสี่ยงของลงทุนได้ ในมุมมองนี้ ออปชันทำตัวเหมือนประกันรถยนต์ครับ คือถ้ารถเราเกิดชนบริษัทประกันก็จ่ายค่าซ่อมแทนเรา แต่ถ้าไม่ชนเราก็ไม่ได้อะไรจากบริษัทประกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราต้องจ่ายเบี้ยประกันไปก่อน ไม่ว่าเราจะใช้สิทธิ์เคลมหรือไม่ ในแง่ของการลงทุน ถ้าเราถือพอร์ทหุ้นซึ่งมีโอกาสที่ราคาจะตกได้ เราสามารถซื้อออปชัน เพื่อทำประกันให้กับพอร์ทที่เราถืออยู่ ในกรณีที่ราคาหุ้นลดลงจริง มูลค่าของพอร์ทก็จะลดลงด้วย เราจะได้ส่วนชดเชยจากคนขายออปชันครับ
2. ออปชันช่วยเพิ่มความสามารถในการลงทุน ในกรณีที่เรามีเงินลงทุนน้อย เมื่อเทียบกับการซื้อหุ้นซึ่งโดยปกติจะให้ผลตอบแทนมากที่สุด ไม่เกิน 30% ต่อวัน แต่การซื้อออปชันสามารถให้ผลตอบแทนถึง 10 หรือ 20 เท่าถ้านักลงทุนเก็งทิศทางถูกต้อง และยังจำกัดความเสี่ยง ถ้าเก็งทิศทางผิดอีกด้วย
3. ออปชันสามารถทำกำไรได้ทั้งตลาดขาขึ้นและตลาดขาลง เนื่องจากในปัจจุบัน การยืมชอร์ตหุ้นยังทำได้ค่อนข้างยากครับสำหรับนักลงทุนทั่วไปและมีค่าใช้ จ่ายสูง เราจึงทำกำไรได้เฉพาะช่วงตลาดขาขึ้น พูดง่ายๆคือ ซื้อถูกแล้วไปขายแพง แต่จริงๆแล้วเราสามารถทำกำไรได้อีกวิธีหนึ่งคือ ขายแพงก่อนแล้วค่อยมาซื้อคืนถูกๆ ในช่วงตลาดขาลง ซึ่งเป็นวิธีการทำกำไรของฟิวเจอร์ส สำหรับออปชันนั้นเราสามารถซื้อคอลออปชัน (Call Options) เพื่อทำกำไรในช่วงตลาดขาขึ้น หรือซื้อพุทออปชัน (Put Options) เพื่อทำกำไรในช่วงตลาดขาลง ซึ่งผมจะอธิบายอย่างละเอียดในครั้งต่อๆไปครับ
ใน ฐานะนักลงทุน เราสามารถซื้อหรือขายออปชันก็ได้ ถ้าเราเป็นฝ่ายซื้อ เราก็ต้องจ่ายเงินค่าออปชันให้ฝ่ายขาย ซึ่งเรียกว่าค่าพรีเมี่ยม (Premium) ส่วนฝ่ายขายหลังจากรับค่าพรีเมี่ยมแล้ว ก็มีพันธะหน้าที่กับคนซื้อที่จะต้องทำตามสัญญาถ้าฝ่ายซื้อใช้สิทธิ์ อีกทั้งต้องวางเงินค้ำประกันกับทางตลาด เพื่อเป็นการรับรองว่าจะทำตามสัญญาครับ
เป็น อย่างไรครับ รู้จักออปชันวันแรก คงไม่ยากเกินไปนะครับ ขอย้ำนะครับว่าอนุพันธ์ ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่เป็นเรื่องใหม่ที่ทุกคนต้องใช้เวลาในการศึกษาไปด้วยกันครับ